ผู้ว่าฯ ธปท.เตือนรัฐสำรองเงิน รับวิกฤติเศรษฐกิจโลก
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ชี้น้ำท่วมส่งผลกระทบไทยในระยะสั้น ไม่นานฟื้นตัวได้แน่ แต่ห่วงเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนส่งสัญญาณกระทบไทยหนักกว่า แนะรัฐรัดเข็มขัด สำรองเงินไว้บ้าง
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ทิศทางเศรษฐกิจไทย" ในงานสัมมนาประจำปี 2554 ซึ่งจัดโดยธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี ว่า ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 หดตัวลงอย่างชัดเจน เพราะน้ำท่วมกระทบต่อการผลิตสินค้าหลายชนิดที่มีบทบาทในเวทีโลก เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งยังกระทบไปถึงห่วงโซ่การผลิตนอกพื้นที่น้ำท่วม การขนส่งสินค้าทำได้ไม่สะดวก ทำให้การอุปโภคบริโภคการใช้จ่ายชะลอตัวลง รวมไปถึงการค้า การส่งออก บรรยากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ ธปท.เชื่อว่า น้ำท่วมคงจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในระยะสั้น และทุกภาคส่วนจะใช้เวลาไม่นานก็จะสามารถฟื้นตัวได้ เช่น ภาคเกษตรกรรมน่าจะฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันใกล้ เพราะไม่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่การผลิต อีกทั้งราคาพืชผลน่าจะสูง เพราะตลาดในประเทศและโลกต้องการมาก ส่วนภาคอุตสาหกรรมอาจต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู เพราะบางส่วนเครื่องจักรเสียหาย ต้องนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศมาชดเชย รวมทั้งปรับกำลังการผลิต หรือย้ายกำลังการผลิต คาดว่าบางส่วนน่าจะฟื้นตัวได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ และคาดว่าภาคอุตสาหกรรมจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในไตรมาสที่ 2 ปีหน้า
ขณะที่การท่องเที่ยว หลังน้ำลด 1-2 เดือน ก็น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนการบริโภคน่าจะฟื้นตัวภายในไตรมาส 1 ปีหน้า เพราะคนจะจับจ่ายใช้สอย ชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วม สินเชื่อรถยนต์น่าจะเติบโตในอัตราที่สูง สำหรับการลงทุนนั้น ธปท.เองก็พยายามดูสภาพคล่องทางการเงินให้เพียงพอ รวมทั้งให้ธนาคารพาณิชย์ผ่อนคลายกฎข้อบังคับต่าง ๆ ในการขอสินเชื่อ รวมทั้งบัตรเครดิต ให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในมุมมองของผู้ว่าฯ ธปท. จะมองว่าปัญหาน้ำท่วมอาจจะไม่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยมากนัก แต่สิ่งที่มีเค้าลางว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยก็คือ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนยังมีแนวโน้มจะยืดเยื้อต่อไปอีก ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เพราะยังไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าปัญหาเศรษฐกิจดังกล่าวจะได้รับการแก้ไขเมื่อไหร่
ดังนั้น ผู้ว่าฯ ธปท. จึงแนะนำให้ภาครัฐแบ่งเม็ดเงินบางส่วนไว้ เพื่อเตรียมรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการผันผวนของเศรษฐกิจโลกด้วย โดยการใช้กลไกลการบริหารทางการคลังรับมือ นอกเหนือจากการนำเงินไปลงทุนกับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน
นายประสาร กล่าวว่า จากวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปที่เกิดขึ้น รัฐบาลจะต้องดำเนินการมาตรการรัดเข็มขัดภายในประเทศ ต่อกำลังซื้อจากลูกค้าในยุโรปลดลง ในภาคธนาคารพาณิชย์มีความจำเป็นต้องเพิ่มุทน เพราะหลายธนาคารไปถือพันธบัตรในยุโรป ซึ่งอยู่ในฐานะไม่สามารชำระหนี้ได้ตามกำหนด จึงต้องมีการสำรองในส่วนสูญเสียไว้ นั่นก็คือ ธนาคารอาจต้องจำกัดตัวเองในการขยายสินเชื่อ
ส่วนปัญหาที่สหรัฐอเมริกานั้น นายประสาร มองว่า เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่แก้ไขได้ยาก และไม่สามารถแก้ไขในเวลาสั้น ๆ ได้ ซึ่งการที่รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามจะลดการขาดดุลการคลัง ไม่สามารถผลักดันข้อเสนอให้ผ่านความเห็นชอบในรัฐสภาได้ น่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ และตลาดการเงิน
นอกจากนี้ อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญแต่หลายคนอาจมองข้าม คือ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ซึ่งขณะนี้ยังเป็นปัญหาอยู่จากการปรับราคาสูงขึ้นของสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น และเงินเฟ้อจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงในไตรมาสที่ 4 นี้ ส่วนในปีหน้าเงินเฟ้ออาจจะลดลง เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง แต่การใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชนยังมากอยู่ ซึ่งจะต้องดูแลปัญหาเงินเฟ้ออย่างระมัดระวัง
ในช่วงท้ายของการปาฐกถา นายประสาร ได้ยืนยันอีกครั้งว่า ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นไม่หนักหนาเท่าปัญหาเศรษฐกิจโลกแน่นอน เพราะน้ำท่วมเป็นเรื่องระยะสั้น เกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 4 แต่อีก 4-5 เดือนต่อจากนี้ไป ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ประเทศไทยอาจจะไม่มีผลกระทบจากเรื่องน้ำท่วม แต่เศรษฐกิจโลกน่ากลัวกว่า เพราะเศรษฐกิจในทุกภูมิภาคของโลกมีการเชื่อมโยงกันมาก หากว่าเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐอเมริกาชะลอตัวลงมาก จะกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียด้วยอย่างแน่นอน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก